เมืองไทยประกันชีวิตปี’64 กำไรกว่า 7,000 ล้าน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

 

เมืองไทยประกันชีวิตปี’64 ทำกำไรกว่า 7,000 ล้านบาท มูลค่าธุรกิจใหม่เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า เบี้ยรับรายใหม่ทำได้ 23,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% “สินค้าสุขภาพ-โรคร้ายแรง-ควบการลงทุน” โตแรง สวนกระแสของโควิด-เศรษฐกิจซบเซา ตั้งเป้าปี’65 เบี้ยใหม่โตเพิ่ม 10%

วันที่ 31 มกราคม 2565 นายสาระ​ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ​จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทสามารถทำกำไรกว่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีกำไรโตได้ต่อเนื่อง แม้ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทายมากจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำ และกฎเกณฑ์หน่วยงานกำกับ แต่ในอีกมิติหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโอกาสดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัลเจเนอเรชั่นใหม่ที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยโควิดทำให้เรากล้าคิดนอกกรอบมากขึ้น และมุ่งเน้นปรับตัวสู่การเติบโตยั่งยืน ไม่ได้หวังโตจากมาร์เก็ตแชร์มาก มีการปรับหน้าตาพอร์ตโฟลิโอให้ตอบโจทย์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) อีกด้วย เพื่อไม่ให้กระทบงบการเงินจากสินค้าขาดทุน

“สิ้นปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนการขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและการลงทุน (Protection & Invesment Linked) สูงถึง 77% ขณะที่สามารถสร้างเบี้ยประกันรับรายใหม่ (new business premium) ได้กว่า 23,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หลัก ๆ มาจากสินค้าประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health) เติบโต 31% และมาจากสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุนที่เติบโตสูงถึง 1,116% จากไซซ์ที่ไม่ได้ใหญ่มาก”

และส่งผลให้มูลค่าธุรกิจใหม่ (New Business Value) ของบริษัทเติบโตขึ้นมากว่า 3 เท่า

ส่วนปี 2565 ว่าตั้งเป้าเบี้ยรับรายใหม่จะเติบโต 10% จากปีก่อน โดยโตมาจากยอดขายประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง 10% จากสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน 40-50% จากสินค้าคุ้มครองชีวิต 7-10% และจากประกันสะสมทรัพย์ 5-7% และจะมีสัดส่วนการขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและการลงทุนมาอยู่ที่ 78%

ความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตยังคงมาจากสินค้าครบกำหนดอายุแต่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินค้าประกันสะสมทรัพย์ที่ตรึงกับการลงทุนและทิศทางดอกเบี้ยพันธบัตร ขณะที่ผลการบังคับใช้ IFRS17 จะมีผลต่อการวางนโยบายต่อการขายสินค้าประกันชีวิตในอนาคตอย่างมาก ส่วนในมิติความพึงพอใจของลูกค้าที่มองเราจากข้างนอก (Outside-In) ต่อแบบประกันที่ใช่คืออะไรเป็นเรื่องสำคัญมากด้วย

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance