เปิดไอเดียสุดล้ำ “Civic Center” จุดหมายปลายทางระดับโลกแห่งใหม่ใน กทม.

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

MQDC จับมือ CDAST เปิดไอเดียสุดล้ำ“Civic Center”จุดหมายปลายทางระดับโลกแห่งใหม่ในกทม. ประกาศผลผู้ชนะโครงการ “Uniquely Thai” สุดยอด2ไอเดียงานออกแบบ เปิดพื้นที่สาธารณะแห่งอนาคตผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรม

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่ประเทศไทย (CDAST) ประกาศผลรางวัลชนะเลิศ โครงการประกวด “Uniquely Thai” Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition 2021 จากผู้เข้าประกวดเกือบ 500 ทีม ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 700,000 บาท

พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและรางวัลเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ โดยผู้ชนะเลิศในประเภทนิสิตนักศึกษาได้แก่ นางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานแนวคิด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” และผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไปได้แก่ ทีม Cosmic I Civic Center จากผลงาน “Metaverse”

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า บริษัท ร่วมมือกับสภาคณบดีคณะสถาปัตย์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวดการออกแบบภายใต้ธีม Uniquely Thai การประกวดแบบ Civic Center ในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับคนกรุงเทพฯ

สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของ MQDC ภายใต้แนวคิด ‘For All Well-Being’ ที่มีความตั้งใจในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนต่อทุกสิ่งบนโลกใบนี้ รางวัลทั้ง 2 ประเภทโครงการประกวดครั้งนี้ คือการออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นศูนย์รวมของการใช้ชีวิตแห่งใหม่

บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มทุกวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมในการออกแบบและพัฒนาโครงการมากเท่าที่ควรดังนั้นโครงการครั้งนี้จึงสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรเมืองได้ในหลากหลายองค์ประกอบ

เปิดไอเดียสุดล้ำ“Civic Center”จุดหมายปลายทางระดับโลกแห่งใหม่ในกทม.

ด้านผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบเมืองทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับ Civic Center หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมืองที่ทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นโจทย์สำคัญที่สุดของการออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง

คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมอง ให้การออกแบบพื้นที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนทุกกลุ่มทุกวัยที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ด้วยโจทย์ความท้าทายให้นักออกแบบได้ประชันไอเดียภายใต้แนวคิด “Uniquely Thai”ชูอัตลักษณ์และนำเสนอรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย ผสานกับความเป็นสากล ส่งเสริมการออกแบบ Civic Center

ให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผลงานจากนิสิตนักศึกษาและนักออกแบบรุ่นใหม่กว่า 181 ผลงานที่ส่งเข้าประกวดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ล้วนมีทักษะในด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะคณะกรรมการตัดสินการประกวด กล่าวว่า ผลงานของผู้เข้าประกวด ทำให้ได้เห็นแนวคิดและไอเดียจากคนรุ่นใหม่ว่าเขามองอนาคตของพื้นที่เพื่อสาธารณะอย่างไร โดยการเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการรวมตัวกัน

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ในปัจจุบันเน้นไปที่การมีพื้นที่ที่กว้างขึ้นให้เกิด space ช่องว่างระหว่างคนมากขึ้น การรวมตัวของคนในพื้นที่สาธารณะจะไม่เหมือนเดิม แต่จะมาในมุมมองหลาย ๆ แบบ มาเป็นกลุ่มเล็กลง อาจจะมีการบูรณาการ Metaverse หรือ Avatar เข้าไปในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเพราะเรายังไม่ทราบว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราทราบแน่ ๆ ว่ามนุษย์ต้องการพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้คนสามารถออกมาจากพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Futuretales Lab by MQDC) ในฐานะคณะกรรมการตัดสินการประกวด กล่าวว่า การประกวดในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบ

ได้เห็นมุมมองและไอเดียจากคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นก่อนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในเรื่องของดิจิทัลแพลตฟอร์ม การประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาผสมผสานในการออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดของคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนประกอบของการคิด การพัฒนา

นางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา เล่าว่า แนวคิดหลักของผลงาน Civic Center มาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความแตกต่างทางฐานะของคนในประเทศที่มากเกินไป การขาดโอกาสทางด้านการศึกษาของเด็กยากไร้ ความยากจน และสุขภาวะที่ไม่ดีของคนในประเทศ รวมไปถึงปัญหาของกรุงเทพฯ

ในเรื่องของระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ดี การจัดผังเมืองที่ไม่เป็นระบบ ดังนั้นอาคารแห่งนี้มีจุดประสงค์ที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน โดยพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสังคมและวัฒนธรรม 2) ด้านความคิดและความรู้ 3) ด้านสุขภาวะ 4) ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 5) ด้านปฏิสัมพันธ์ โดยสะท้อนจุดเด่นของงานออกแบบเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต เชื่อมต่อทางเดินเท้าเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปที่ผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

 

นายสิปปวิชญ์ รู้อยู่ ตัวแทนจากทีม Cosmic I Civic Center รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป กล่าวว่าสิ่งแรกให้ความสำคัญกับบทบาทของ Civic Center ในประเทศไทยคือการที่ผู้คนในสังคมสามารถมารวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ จุดเริ่มต้นในการพาเมืองไปสู่โลกที่กว้างขึ้น

โดยมองพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมของเมืองที่จะพัฒนาคนต่อไปในอนาคต โดยแนวคิดในการสร้างเมืองของเราคือ ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ เรานำแนวคิดนี้มาปรับใช้และต่อยอดที่ว่ามนุษย์เราเองก็สามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ในจินตนาการที่เรียกว่า Metaverse ได้

ตัวอาคารได้ไอเดียมาจากสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุ และในส่วนภูมิประเทศได้ไอเดียมาจากเขามอ ซึ่งเป็นสวนภูมิทัศน์จำลองของไทย ที่มีการเล่นกับลักษณะทางกายภาพและน้ำที่เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร จึงได้ขมวดมาเป็นแนวคิดในการวางอาคารให้ลอยอยู่เหนือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนไทยเราได้ปรับตัวอยู่กับน้ำตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/property/508637